Packaging City

Packaging Design Knowledge Center

Packaging Trend 2020 เทรนด์บรรจุภัณฑ์ 2563

Packaging Trend 2020 เทรนด์บรรจุภัณฑ์ 2563

ผม สมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Prompt Design บริษัทออกแบบของไทยดีกรีรางวัลระดับโลก กว่า 60 รางวัล เมื่อปลายปีที่ผ่านมาผมได้ไปบรรยายในงานสัมมนา “SME NEXT TREND 2020” ของนิตยสาร SME THAILAND ในหัวข้อ “Thai Packaging Trend 2020” เกี่ยวกับเทรนด์บรรจุภัณฑ์ทั้งหมด 7 เทรนด์ที่น่าสนใจ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจและสินค้าของท่านได้

หลักการในการที่จะกำหนดเทรนด์ของผมเองนั้น มาจากประสบการณ์บวกกับการทดลองนำเทรนด์ต่างๆที่ได้ประมาณการณ์ไว้มาทดลองพิสูจน์ แล้ววัดผลดูว่ามันเป็นไปได้กับประเทศไทยๆอย่างเราๆกันหรือไม่ ผลปรากฎว่าได้ตรงตามที่คาดการณ์ไว้

มาเริ่มกันเลยครับ

  1. Mass Customization Packaging การทำความแตกต่างให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบอุตสาหกรรม เป็นเทรนด์ที่มี การนำมาใช้นานแล้ว แต่ก็ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง เช่น โค้ก ที่ทำแคมเปญพิมพ์ชื่อคนต่างๆ ติดอยู่ที่ฉลากกระป๋อง สำหรับในไทยเองแม้ไม่ใช่ Global Brand ก็สามารถทำได้ เช่น น้ำดื่ม Sprinkle ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ฉีดขวดสี เปลี่ยนจากขวดน้ำใสในตลาดน้ำดื่มธรรมดาทั่วไปที่ปกติจะเน้นโทนสีฟ้ามาใช้เป็นชุดสีต่างๆ ด้วยการไล่โทนและสร้าง Theme ขึ้นมาจากเรื่องราวต่างๆ เปลี่ยนจากขวดน้ำใสๆ ธรรมดา มาสร้างสรรค์เป็นขวดน้ำที่น่าสะสม จากการสร้างความแตกต่างที่น่าสนใจ แถมขายในราคาเท่ากัน จึงไม่ยากที่จะเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคสนใจ และหยิบขึ้นมาทดลองได้ จากที่ไม่เคยติด Top 3 ในตลาด ยอดขายสามารถพุ่งกระฉูดขายดีได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวเราสามารถพลิกแพลงจากในกระบวนการผลิตได้ ยกตัวอย่าง เช่น การฉีดสีขวดน้ำอาจมีขั้นต่ำในการทำครั้งละจำนวนมากๆ เช่น 1.5 แสนใบต่อ 1 เฉดสี ดังนั้น แทนที่จะทำหลากหลายสี เราสามารถสร้างธีมขึ้นมา แล้วเล่นเป็นทีละชุดสีก่อนก็ได้ เช่น โทนสีชมพูของดอกไม้ ได้แก่ กุหลาบ ทิวลิป คาร์เนชั่น เท่านี้ก็สามารถสร้างเรื่องราวและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้
  1. Be Simple, Bold and Clear ปัจจุบันสินค้าในตลาดโดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ๆ มีการใช้เฉดสีฉูดฉาด และ ภาพประกอบมากมาย เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับสินค้า จนบางครั้งเมื่อนำมาวางเรียงอยู่ด้วยกันอาจสร้างความสับสนผสมปนเปกันไปหมด จนไม่สามารถมองหาจุดเด่นของสินค้าได้ ความเรียบง่าย น้อยแต่มาก สไตล์มินิมอล จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าออกจากแบรนด์อื่นๆ ได้ ยกตัวอย่าง “ไร่ไม่จน” แบรนด์น้ำอ้อยพรีเมียม ที่สามารถออกแบบแบรนด์และแพ็กเกจจิ้งได้แตกต่าง ด้วยตัวฉลากที่เรียบง่าย สีสันไม่ฉูดฉาด แถมยังออกแบบดีไซน์กระป๋องให้เหมือนกับปล้องอ้อยที่สามารถนำมาต่อกันให้ยาวเป็นลำต้นอ้อยขึ้นมาได้ สร้างความน่าสนใจ และสะดุดตาต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการขายอีกด้วย จากที่ขายเรื่อยๆ ไม่เคยส่งออก การเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งใหม่ครั้งนี้กลับกลายเป็นทำให้คว้ารางวัลระดับโลกมาได้มากมายกว่า 10 รางวัล ทั้งยังได้รับเชิญไปออกงานแสดงสินค้าต่างประเทศ และมียอดการสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศเข้ามาอีกด้วย
  1. Culture Story การบอกเล่าคุณค่าที่มาของตัวสินค้า นับเป็นอีกวิธีที่น่านำมาใช้สำหรับแบรนด์ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่มักมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งนี่เป็นอีกกลยุทธ์ที่จะทำให้ SME สามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่ได้ โดยไม่ต้องเข้าไปแข่งขันในตลาดเดียวกัน แต่สามารถแยกออกมาเล่นในตลาดพรีเมียมที่มีขนาดเล็กกว่า แต่อัดแน่นด้วยคุณภาพ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยทำให้สินค้าขายได้ราคาและสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องหาความแตกต่างให้ได้ เช่น แบรนด์ข้าว Healthy Food Healthy Life แทนที่จะแข่งขันอยู่ในตลาดแมส ก็อาจหันมาเล่นในตลาดเฉพาะกลุ่มเพื่อทำข้าวคุณภาพดีที่ใช้กระบวนการแตกต่างจากระบบอุตสาหกรรม โดยหันมาใช้วิธีแบบดั้งเดิมทั้งหมด เช่น ใช้ควายไถนา ใช้มือเกี่ยวข้าว นวดข้าว ฯลฯ เพื่อให้ได้รสชาติอร่อยแบบดั้งเดิมที่เคยกินมา ซึ่งเมื่อสามารถสร้างความแตกต่างในกระบวนการผลิตและตัวสินค้าได้แล้ว บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่ก็ควรฉีกออกมาจากตลาด และต้องถ่ายทอดเรื่องราวคุณค่าที่เกิดขึ้นของแบรนด์ออกมาให้ผู้บริโภคได้รับรู้ด้วย
  1. Packaged Planet การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นเทรนด์ที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่างหันมาทำกันมาก ขึ้น ซึ่งนี่เป็นโอกาสให้ SME สามารถนำมาใช้ทำตลาด และประยุกต์ใช้กับแบรนด์ของตัวเองได้ด้วย เนื่องจากมีการโหมสร้างกระแสของแบรนด์ใหญ่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และเรื่องนี้ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องของบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจะถูกนำมาเป็นกลยุทธ์ในทางธุรกิจกันมากขึ้น แต่ในแต่ละตลาดก็ยังมีช่องว่างอยู่ เช่น แบรนด์น้ำตาลมิตรผลที่ทำแคมเปญเปลี่ยนจากถุงพลาสติกใส่น้ำตาลมาเป็นถุงกระดาษ เป็นต้น ซึ่งจากที่ขายราคาปกติ ก็ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นได้ แม้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยส่วนหนึ่งที่ได้ทำก็สร้างการจดจำและรับรู้ให้กับผู้บริโภคได้แล้วว่าหากพูดถึงแบรนด์น้ำตาลไทยที่ใช้ถุงกระดาษมาเป็นหีบห่อ ก็ต้องนึกถึงแบรนด์มิตรผลก่อน ดังนั้น ต้องหาช่องว่างที่ยังไม่มีใครทำให้เจอ ถ้าทำได้ ก็ตะโกนออกไปดังๆ แบรนด์ของเราจึงจะเป็นแบรนด์แรกที่อยู่ในภาพจำนี้ของลูกค้า
  1. New Experience จากสินค้าธรรมดา หากใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้แตกต่าง สามารถสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่น่าจดจำให้แก่ลูกค้าได้ ตัวอย่างเช่น การออกแบบกล่องในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของแบรนด์ Diamond Grains กราโนล่าสายเฮลตี้ที่ออกแบบรูปแบบกล่องใส่สินค้า ซึ่งหากลองนำมาพับต่อกันจะสามารถเปลี่ยนจากกล่องธรรมดาให้กลายเป็นต้นคริสต์มาสใช้ประดับตกแต่งได้ จากตอนแรกที่คิดจะทำออกมาพิเศษเพียง 10,000 ใบ ผลปรากฏสามารถขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้หมดภายในวันเดียว ทำให้ต้องมีการพรีออร์เดอร์ และผลิตออกมาเพิ่มถึงกว่า 30,000-40,000 ใบเลยทีเดียว
  1. Collaboration กลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้กันมากขึ้นในปัจจุบัน คือ การจับมือร่วมกันเพื่อสร้างแคมเปญหรือทำ กิจกรรมบางอย่างร่วมกันระหว่างแบรนด์ โดยไม่จำเป็นต้องไปจับมือร่วมกับแบรนด์ที่ทำสินค้าประเภทเดียวกันหรืออยู่ในตลาดเดียวกันเท่านั้น แต่สามารถจับคู่ระหว่างแบรนด์ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้ เพื่อสร้างความว้าว! ความสนุก สร้างสีสันให้เกิดขึ้นในตลาด โดยวิธีดังกล่าวนี้นอกจากจะสร้างความตื่นเต้นน่าสนใจให้กับลูกค้าแล้ว ตัวแบรนด์เองจะกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น แถมยังอาจได้กลุ่มลูกค้าของแบรนด์บัดดี้ที่ทำงานร่วมกันมาเพิ่มอีกด้วย เรียกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนลูกค้าซึ่งกันและกันที่น่าสนใจอีกวิธี และน่าจะเป็นที่นิยมไปต่อได้ในอีกระยะหนึ่ง
PurraXDesigner.jpg
  1. Smart Packaging วิธีการสุดท้าย บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ ซึ่งเป็นวิธีที่เริ่มมีการนำมาใช้กันมากสำหรับแบรนด์ใน ตลาดต่างประเทศ แต่ในเมืองไทยอาจยังไม่ค่อยมีให้เห็นกันมากนัก เนื่องจากความไม่พร้อมของประชากรที่อาจยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟนได้ทั่วถึงในทุกกลุ่ม เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับบรรจุภัณฑ์ได้ จึงอาจยังไม่เหมาะหากจะนำมาใช้สร้างตลาดในตอนนี้ แต่นับเป็นอีกวิธีที่หากทำได้จะสร้างความสนุก สร้างลูกเล่น และดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอีกเทรนด์ที่มาแน่นอน เพียงแต่ยังไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในเมืองไทย ณ ตอนนี้เท่านั้นเอง

ทั้งหมดนี้คือ 7 เทรนด์ของบรรจุภัณฑ์ที่ท่านสามารถนำไปประยุกต์เป็นกลยุทธ์ของแบรนด์ เพื่อกระตุ้นยอดขาย และการรับรู้ได้อย่างไม่ยาก ลองนำไปใช้ดูครับ แล้วจะรู้ว่าเทรนด์มันมีประโยชน์ อย่างที่ผมทดลองนำไปใช้แล้วจริงๆ

Filed under: Idea Packaging, Packaging Tips, , , , , , , , , , ,

ใส่ความเห็น