Packaging City

Packaging Design Knowledge Center

ทึ่ง!!! น้ำดื่ม C2 Water น้ำดื่มที่คว้ารางวัลมากที่สุดในโลก

น้ำดื่มซีทรู คือ น้ำดื่มที่ไร้ฉลากเจ้าแรกในประเทศไทย ที่ได้รางวัลระดับโลกมากถึง 11 รางวัล ออกแบบโดย Prompt Design

กรรมการระดับโลกพูดถึงผลงานนี้ว่าอย่างไรบ้าง???

“A stunning, tactile, eco design. This is a very effective piece of packaging design for ‘no label’ bottled water driven by deep consumer insight. The clever design details and wonderful execution make this a standout entry in this category. Well done.”

“น่าทึ่งมาก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นี่เป็นผลงานการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับน้ำดื่มบรรจุขวดที่ไม่มีฉลาก ซึ่งล้วนวิเคราะห์มาจากข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค เป็นการออกแบบที่ชาญฉลาดและยอดเยี่ยม จึงทำให้รายการนี้โดดเด่นในหมวดหมู่ ยอดเยี่ยมมาก”

วิธีคิด และคำอธิบายผลงาน :
หลังจากที่พวกเราเก็บข้อมูลในมุม Consumer Insight ของผู้บริโภคมาแล้วพบว่า การทำขวดน้ำดื่มที่ไม่มีฉลากนั้น จะเกิดปัญหาทั้งหมดอยู่ 2 อย่าง ก็คือ 1. ตำแหน่งรายละเอียดข้อมูลทางโภชนาการและส่วนผสมต่างๆตามกฎหมาย และรายการบาร์โค้ดที่จะต้องใช้ในระบบพวกห้างต่างๆ 2. ผู้บริโภคเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี แต่ดีไซน์ที่ไม่มีฉลากนั้นดูเสมือนว่า มันเป็นมันเป็นเพียงการลดต้นทุนและปลอมตัวมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม มันดูไม่คุ้มค่ากับเค้าเลย

พอเราเข้าใจถึง Consumer Insight แล้วเราจึงมาใช้ดีไซน์ในการแก้ปมปัญหาของทั้ง 2 เรื่อง คือ 1.เรานำข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นตามกฎหมายมาใส่บนตัวขวดด้วยวิธีการปั๊มนูน Emboss และเรานำบาร์โค้ด มาสกรีนลงบนฝาขวด 2. เราเจตนาที่จะสร้างลวดลายให้สวยงามเป็น Collection ต่างๆ และเล่าเรื่องถึงผลกระทบที่ได้จากการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยนำเอาสัตว์ต่างๆ ที่มีความสุขท่ามกลางธรรมชาติที่ดีของพวกเขา ทั้งบนบก, ในทะเล, บนท้องฟ้า และในหิมะ เช่น กวางที่อยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์, หมีขาวที่อยู่ในพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ มาเล่าเรื่องผ่านลวดลายปั๊มนูนบนขวดน้ำที่น่าสนใจมากๆ

ชื่อของแบรนด์น้ำดื่ม C2 มีที่มาจาก See Through หรือ Circular Economy + 2gether สะท้อนถึงภารกิจที่ต้องดำเนินการของแบรนด์นี้


แบรนด์น้ำดื่มซีทรู C2 Water No Label ถูกตีพิมพ์ในนิตรสารดังของประเทศอังกฤษ อย่าง ECO PLASTIC IN PACKAGING : October 2022 และ ถูกตีพิมพ์ในหนังสือดีไซน์ของอิตาลี BEST IN PACKAGING 2021


รวมถึงน้ำดื่มซีทรู C2 Water No Label จะไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่ MODA (Museum of Design Atlanta) USA ซึ่งนิทรรศการที่จะไปจัดแสดงนั้นเกี่ยวกับ “food packaging design”,”การออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหาร” จัดที่ MODA Museum of Design Atlanta (Atlanta, USA) ซึ่งนิทรรศการนี้ Curate โดย Elisabetta Pisu และ Amina Pereno นักวิจัยที่ POLITECNICO OF TURIN ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในยุคดิจิทัล นิทรรศการที่ Atlanta นี้ จะเป็นเรื่องราวที่ครอบคลุมถึงวิวัฒนาการของบรรจุภัณฑ์อาหาร ตั้งแต่การค้นพบวัสดุที่เป็นจุดเริ่มต้น รวมถึงจุดเปลี่ยนในการปฏิวัติบรรจุภัณฑ์ไปสู่อนาคต (ทั้งบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ, ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของอาหาร)

Filed under: Idea Packaging, Packaging Strategy, , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,

ถอดรหัสความสำเร็จของข้าวศรีแสงดาว ข้าวรางวัลระดับโลก

วันนี้ครับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆนักอ่านทุกท่าน ผมมาสัมภาษณ์เพื่อถอดรหัสความสำเร็จของแบรนด์ข้าวศรีแสงดาวให้ทุกๆท่านได้อ่านกันอย่างหมดเปลือก

โดยวิธีการอ่านนั้นจะเป็น บทความของน้องสิน สินสมุทร ศรีแสงปาง และผมสมชนะ จะเป็นคนถาม

สมชนะ : Brand Purpose ของศรีแสงดาวเป็นอย่างไร?

สินสมุทร : สานต่อProject ข้าว Gi กับคุณแม่

ในช่วงแรกที่ทำข้าว GI ยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของสินค้าชุมชน และความยิ่งใหญ่อะไรของมัน รู้แต่ว่าแม่ต้องการช่วยงานนโยบายของภาครัฐให้สำเร็จ และช่วยซื้อข้าวจากชาวนาราคาแพงขึ้นจากราคาปรกติ ในระหว่างนี้ผมมีโอกาสใกล้ชิดชาวนามากขึ้น ได้พูดคุย ได้รู้ปัญหาต่างๆ ของชาวนา  และชาวนาจะชอบผมมากเวลาผมลงไปหาพวกเขาถึงในหมู่บ้าน อาเสี่ยมาให้ต่อรองถึงในหมู่บ้าน ประเด็นหลักที่เกษตรกรเจอผมคือคือเรื่องราคา ดังนั้นวิธีการแก้คือ ผมศึกษาวิธีการทำนาหยอดเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น และให้ชาวนาขายข้าวได้มากขึ้น

สมชนะ : ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่านาหยอดของศรีแสงดาวมันดียังไง?

สินสมุทร : ศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด นำร่องเกษตรกร หยอดข้าวฟรี!

ถ่ายทอดการทำนาหยอดจากโรงสีศรีแสงดาว สู่แปลงนาของเกษตรกรบริเวณรอบโรงสีศรีแสงดาว ครั้งแรกเราหยอดข้าวให้ฟรี แต่ไม่มีใครกล้าทำด้วย เพราะเกษตรกรกลัวเรื่องเมล็ดพันธ์ที่น้อยลง กลัวความห่าง กลัวไม่ได้ข้าว  ในปีแรกขอเกษตรกรหยอดข้าวให้ฟรีถึง 3 ครั้งถูกปฎิเสธกลับมาทุกครั้ง และครั้งสุดท้ายลงไปเองถึงบ้านเกษตรกร คุยกันอยู่นานเกษตรกรเห็นถึงความตั้งใจ โดยขอว่า 1 แปลงถ้าพี่ๆให้ผมหยอด ผมก็จะหยอดให้  สรุปได้ เกษตรใจเพชรมา 20 คนบนพื้นที่ 300 ไร่  ในช่วงแรกที่ส่งเสริมผมคุยกับเกษตรกรเยอะมาก  ฟังซ้ำหลายๆคน จับประเด็นได้ก็ปัญหาเดิมๆ เรื่องเดิมๆ ประสบการณ์การทำงานบริหารโรงสีในเรื่องการผลิตช่วยได้มาก  เป็นเรื่องเดียวกันผลิตเหมือนกัน การทำนาจึงไม่ใช่เรื่องยาก มีหลักคิดแบบเป็นระบบ มีแนวคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีเครื่องจักรช่วยทุ่นแรง แต่ความยากคือ การเปิดใจของเกษตรกร ที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่  เมื่อเก็บเกี่ยวสรุปผลคือ นาหว่านเดิมใช้เมล็ดพันธุ์ 35 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 330 กิโลกรัมต่อไร่ นาหยอดที่ลงไปส่งเสริมใช้เมล็ดพันธุ์ 6  กิโลกรัมต่อไร่ แต่สามาถทำผลผลิตได้มากถึง 550-690 กิโลกรัมต่อไร่  สิ่งที่มหัศจรรย์ในปีนี้คือราคาข้าวตก แต่เกษตรกรที่ร่วมโครงการกับเราพอขายข้าวได้เงินเยอะที่สุดในชีวิตที่เคยได้รับ จึงมั่นใจมากมาถูกทาง 

การเดินทางของข้าวศรีแสงดาว เกิดจากความผิดหวัง

ชาวต่างชาติ ติดต่อเข้ามาซื้อข้าว Gi คุย Project กันอยู่เป็นปี แต่สุดท้ายเขาไม่ซื้อเพราะ เขาต้องการนำข้าว Gi ออกไปบรรจุนอกพื้นที่ ซึ่งผิดระเบียบข้าว Gi เมื่อพิจารณดูแล้ว ข้าว Gi  ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สินค้าไทยชนิดแรกของไทย ที่สามารถไปจดทะเบียนไกลถึงสหภาพยุโรปได้สำเร็จ  ถ้าคนพื้นที่ไม่ผลักดันออกมาไป  ความยิ่งใหญ่ ความภูมิใจของสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดเด่นของพื้นทีเราก็ไร้ความหมาย

ศรีแสงดาว Gi ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้  Project

เกษตรกรทุกคนที่เข้าร่วมโครงการต้องทำนาหยอด เพื่อให้มีรายได้มากขึ้นจากการทำนา จุดเริ่มต้นโครงการศรีแสงดาวเริ่มจากความตั้งใจเท่านี้  เท่านี้จริงๆ อยากให้เกษตรกรมีรายได้มาขึ้นจากการทำนา ด้วยการทำนาหยอด กิจกรรมหลักคืองานส่งเสริม   ไม่มีแผนธุรกิจใดๆ เพราะทีมส่งเสริมก็มีไม่ลงไปดูแลเองทั้งหมด เวลาหายไปในส่วนนี้ 70 % ของชีวิต เป้าหมายเดียวที่คิดออกตอนนั้นคือต้องพาเกษตรกรทำนาหยอดให้สำเร็จ   ความรู้สึกคือเหนื่อยมาก แต่ก็มีความสุขมากเช่นกัน รู้ว่าสามารถพาเกษตรกรทำนาหยอดสำเร็จ

สมชนะ : ดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้ด้วยดี มีทั้ง GI ทั้งปลูกแบบนาหยอด แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ การสื่อสารสิ่งที่ดีงามนั้นออกไป ช่วยเล่าวิธีการให้ฟังหน่อย?

สินสมุทร : การถ่ายทอด Brand Purpose สู่งานดีไซน์

ผมไปเจออาจารย์แชมป์ สมชนะ กังวารจิตต์ จาก Prompt Design ผู้มีประสบการณ์ในระดับโลก เขาเข้าใจจุดเด่นในข้าวของผมดี เข้าใจตัวตนผมดี และถ่ายทอดเรื่องราวออกมาด้วยจิตวิญญาณ เป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำการเดินทางของข้าวศรีแสงดาว หากอาจารย์แชมป์ ไม่เข้ามาช่วยถ่ายทอดเรื่องราวตรงนี้ ผมอาจจะหมดกำลังใจในการส่งเสริมการทำนาหยอดก็ได้

อาจารย์สามารถมองเห็นอนาคตของข้าวศรีแสงดาว และยังมองเห็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผนวกกับจุดยืนที่มีอยู่ในวงการข้าวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็คือเรื่อง Sustainability หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งจริงๆ โรงสีของผมทำเรื่องแบบนี้อยู่แล้วด้วย แต่ไม่เคยพูดออกมา ผมทำเรื่องนี้กับอาจารย์อยู่เกือบ 2 ปี ตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งตอนนั้นก็ไม่มีใครเข้าใจเรื่องนี้กันมากนัก ไม่มีใครให้ความมั่นใจได้เลย มีแต่อาจารย์แชมป์คนเดียว

หลังจากนั้นผลงานออกสู่ตลาดชาวต่างชาติให้การยอมรับในวงกว้างได้รางวัลระดับโลกมากถึง 15 รางวัล และทำให้โลกได้รู้จักข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ไทย และรู้จักข้าวศรีแสงดาว ทำให้ผมส่งออกแบรนด์ศรีแสงดาวไปต่างประเทศแล้วด้วย ผมภูมิใจมากที่ข้าวแบรนด์คนไทยได้มีโอกาสไปสร้างชื่อในเวทีโลก

จากที่น้องสิน สินสมุทร ได้เล่ามาข้างต้น ผมมาขมวดให้ได้ดังนี้ครับ พร้อมตาราง

ในเชิง Product Differentiation นั้น ถือว่ามีความต่างพอสมควร เวลาเอามาใส่ bullet ในตาราง Creating Product Differentiation จะมองเห็นว่าในเชิง Story นั้นถือว่ามาได้เต็มทุกช่องทั้งเรื่องช่องการ Build เรื่อง Social Value ส่วนช่องต่อมาเรื่อง Design ก็ถือว่าตอบโจทย์ทุกๆช่องเหมือนกัน ส่วนในแง่ Usability ตรงนี้ไม่ได้เปลี่ยนอะไรถือเป็นปกติของการทานข้าว หุงข้าว ทั่วๆไป ต่อมาในมุมของ Quality ตรงนี้เองด้าน Functional ใส่ Bullet เพราะมีการ Certified จาก GI ของสหภาพยุโรป และตราอื่นๆอีกมากมาย ส่วนตรง Process ถือว่าต่าง เพราะในการทำนาหยอดนั้นในแง่ Functional และ Social นั้นมาเต็มอยู่แล้ว

สรุปเพื่อนๆพี่ๆน้องจะเห็นภาพเลยครับว่าส่วนของต้นทางคือ Product นั้นต่างแล้วหรือไม่ เพื่อนๆลองไปหยอด bullet ใส่ในช่องต่างๆ ลองเล่นดูนะครับ จะได้ตอบได้ว่าสินค้าเราต่างแล้วหรือไม่ ส่วนหลังจากนั้นถ้าเพื่อนๆพี่ๆน้องจะสร้างความแตกต่างในแง่ของบรรจุภัณฑ์ต่อไป ให้ไปอ่านบทความ แตกต่างศาสตร์ได้ครับ

Filed under: Idea Packaging, Other, Packaging Strategy, , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,

Lays เลย์ปรับ Packaging ใหม่ในรอบกว่า ทศวรรษ!!

มันฝรั่งแผ่นเลย์ (Lays) ปรับโฉมใหม่ในรอบกว่า ทศวรรษ!!

Frito-Lay จากบริษัท PepsiCo ได้ปรับปรุงโฉมมันฝรั่งทอด Lays ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ นับเป็นการปรับบรรจุภัณฑ์ครั้งแรกในรอบ 12 ปี เปิดตัวครั้งแรกไปแล้วในเดือนกันยายน 2562 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ส่วนประเทศอื่น ๆ รวมทั้งไทย จะตามมาหลังจากนั้น

Print

แนวคิดบรรจุภัณฑ์ใหม่ มาจากเอเจนซี่นิวยอร์คมีนามว่า Vault49 ใช้แนวคิดที่ว่า  InstaWorthy เป็นการถ่ายภาพที่ต่างจากภาพถ่ายบนบรรจุภัณฑ์ตัวเก่า ภาพถ่ายใหม่นี้จะเป็นถ่ายภาพมุมบนลงล่าง หรือเรียกว่า Top View เหตุผลที่เลือกแนวคิดนี้ก็คือ จากผลวิจัยเรื่องการถ่ายรูปในยุค Social Media Era วัยรุ่นส่วนมากจะถ่ายรูปลง Instagram กัน ซึ่งรูปที่สวยและเป็นที่นิยมมากในการถ่ายภาพอาหารก็คือ มุมด้านบน ดังนั้นจึงเลือกใช้ให้เหมาะกับยุคสมัย อีกทั้งสัดส่วนของ Ingredients บนหน้าซองใหม่ของเลย์นั้น จะเป็นการใช้สัดส่วน ingredients จริงๆ

Lays-Packaging-City-Rebrand-03.jpg
Lays-Packaging-City-Rebrand-01.jpg

นอกจากนี้ตัวโลโก้ของ Lays เองเวลาใช้ในซอง จะให้มีขนาดเล็กลง ตัวอักษรตัว y นั้นจะม้วนหางเก็บ และเพิ่ม space ริบบิ้นแดงให้ชัด เพื่อให้การใช้งานในระดับ favicon ขนาด 16*16 พิกเซล  นั้นยังคงอ่านออกอยู่

ส่วนบรรจุภัณฑ์นั้น โลโก้เลย์ ถูกขยับมาให้เข้าใกล้กับกลางซอง โดยมี Monochromatic Ring เปล่งแสงจากตรงโลโก้ออกมา กลายเป็นอีกหนึ่ง Brand identity ใหม่ของแบรนด์เลย์ที่จะใช้ต่อไป

Lays-Packaging-City-Rebrand-04.jpg
Lays-Packaging-City-Rebrand-06.jpg

ด้านหลังของบรรจุภัณฑ์นั้น ตกแต่งด้วยภาพและเส้นสายความสนุก สลับคั่นด้วยคำอธิบายรสชาติสี่คำ ตัวอย่างเช่น เลย์ตัว Classic จะใช้คำว่า “Crispy Yummy Deliciously Tasty.”

Filed under: Idea Packaging, Packaging Strategy, , , , , , , , , , , , , , , , , , ,

น่าสนใจมาก..!!! คุณสมชนะ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์โลก ณ รายการไทยเท่

คุณแชมป์ สมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ ระดับโลกจาก Prompt Design ณ รายการไทยเท่ หัวข้อแพคเกจใส่ไอเดีย(Idea Packaging) สัมภาษณ์โดยพี่โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ กับการสร้างแรงบันดาลใจมากมายให้กับวงการและนักออกแบบรุ่นใหม่  ในความสม่ำเสมอของผู้ชายคนนี้ น่ายกย่องมากๆ

สมชนะ กังวารจิตต์

คุณสมชนะ กังวารจิตต์ แห่ง Prompt Design

Filed under: Idea Packaging, Other, , , , , , , , , , , , , , , , , , ,

กลยุทธ์บรรจุภัณฑ์เทศกาลแบบชัดๆ ชมๆ

ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลปีใหม่ วาเลนไทน์ คริสมาสต์ ตรุษจีน หรือเทศกาลอื่นๆ ก็มักจะมีการมอบของมีค่า มีความหมาย ให้ผู้อื่นในโอกาสที่เป็น วันสำคัญต่างๆ ด้วยเหตุนี้เองนักการตลาดจึงเร่งหาวิธีการขายสินค้าผ่านช่วงเวลาเทศกาลให้สามารถกอบโกยผลกำไรให้ได้มากที่สุด ซึ่งกลยุทธ์ การทำตลาดผ่านช่วงเวลาและฤดูกาลนั้นจะเรียกกันว่า “Seasonal Marketing” หรือ “Celebrate Marketing” เป็นกลยุทธ์การทำตลาด ตามฤดูกาล ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สร้างสีสันทางการตลาดได้เป็นอย่างดีในช่วงระยะเวลาอันจำกัด และเป็นการทำตลาดช่วงที่เหนื่อยน้อยที่สุด แต่ยอดขายเติบโต สูงที่สุด จริงๆแล้วกลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ที่คลาสสิกมากๆ แบรนด์ดังๆหลายๆแบรนด์จะใช้ช่วงเวลานี้ในการทำโปรโมชั่น เพิ่มยอดขาย หรือแม้แต่ การออกสินค้าใหม่ๆ เนื่องจากผู้บริโภคอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องจับจ่ายใช้เงินอยู่แล้ว โดยมีเทศกาลต่างๆ มากำหนดความต้องการไม่ว่าจะเป็น ปีใหม่ ,ตรุษจีน ,กินเจ ,วาเลนไทน์ ,คริสต์มาส ,ฮาโลวีน และสงกรานต์ เป็นต้น หนึ่งในหนทางที่สามารถกระตุ้นยอดขายได้ง่ายที่สุด และลงทุนน้อยที่สุด นั่นก็คือ บรรจุภัณฑ์ หรือ แพคเกจจิ้ง นั่นเอง ตามปกติแล้วบรรจุภัณฑ์เองนั้น มีหน้าที่ของมันก็คือการสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้า และแบรนด์ แต่มีอีกหน้าที่หนึ่งของบรรจุภัณฑ์ที่จะลืมไป เสียไม่ได้ก็คือ Occasion Packaging แปลว่า บรรจุภัณฑ์ตามวาระต่างๆ โดยจะแบ่งเป็นข้อๆแยกแยะให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ 1. ใช้วิธีการปรับหรือเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้เป็นไปตามวาระนั้นๆ เช่น เทศกาลกินเจ นมถั่วเหลืองไวตามิลค์ ออกไวตามิลค์สูตรเจ เพื่อรับมือกับความต้องการในช่วงเทศกาลการกินเจ โดยทำให้ไวตามิลค์ออกบรรจุภัณฑ์ พิเศษสำหรับสูตรเจ ทำให้บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ไม่เพียงแต่ไวตามิ้ลค์ที่จับกระแสช่วงเทศกาลกินเจเท่านั้น ยังมีกลุ่มพวกเครื่องปรุงรส ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กสมบูรณ์ หยั่นหว่อ หยุ่น เข้ามาเล่นในช่วงเทศกาลกินเจอีกด้วย รวมทั้งแบรนด์ขนมอย่างเถ้าแก่น้อย และ มันฝรั่งกรอบตราโปเต้ ก็เข้ามาเหมือนกัน ถือเป็นเทศกาลที่สนุกไม่น้อยเลยทีเดียว

เทศกาลวาเลนไทน์ โออิชิเปิดตัวชาเขียวกลิ่นสตรอเบอรี และนับเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีที่โออิชิทำตลาดในช่วงวาเลนไทน์ โดยปีแรกเปิดตัว ชากุหลาบ ปีที่สองเปิดตัว ชารสซากุระ ซึ่งออกมากระตุ้น Variety ของสินค้าได้ดี ยังมีแบรนด์ที่เป็นไอดอลของวาเลนไทน์อย่างลูกอมรูปหัวใจอย่างฮาร์ทบีท ก็เปิด ตัวบรรจุภัณฑ์ใหม่ “ห่อลูกอมมหัศจรรย์” ที่เขียนบอกความในใจลงบนบรรจุภัณฑ์ได้ด้วยมือของตัวเอง โดยทางฮาร์ทบีทนั้นต้องการสร้าง Gimmick หรือ ลูกเล่นใหม่ๆ ต้อนรับยอดขายมหาศาลที่จะเกิดขึ้นในวันวาเลนไทน์ ซึ่งผลตอบรับถือว่ายอดเยี่ยมมากๆ

2. ใช้วิธีการจัด หรือรวมหน่วยสินค้า ตรงนี้เองถือเป็นข้อดีที่บรรจุภัณฑ์สามารถสร้างให้เกิดโอกาสในการขายตามวาระต่างๆได้อีกมาก ตัวอย่าง ชัดๆและเห็นเป็นรูปธรรมก็คือ บรรจุภัณฑ์แบรนด์รังนกเนื้อทองที่ขายเป็น Giftset ในเทศกาลวันแม่ สามารถสร้างยอดขายกว่า 3.5 ล้านบาท และขายหมดภายในสัปดาห์เดียว หรือแม้แต่แบรนด์ซุปไก่ที่จัดเป็น Set ขายในกระเช้าตะกร้าสานหลากหลายขนาด ก็ยังนิยมไม่เสื่อมคลาย ตรง นี้เองจะเห็นว่าเพียงแค่การรวมหน่วยของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการรวมหน่วยสินค้าชนิดเดียวกัน เช่น แบรนด์ซุปไก่หนึ่งขวด มาแพ็ครวมกันเป็น 6 ขวด หรือจะเป็นการรวมหน่วยสินค้าหมวดหมู่เดียวกัน เช่น แบรนด์ซุปไก่สิบขวด มาแพ็ครวมกับผ้าอ้อมเด็ก และถุงมือเด็ก ็เพื่อบำรุงคุณแม่ที่เพิ่งคลอด ลูกมาหมาดๆ แบรนด์บิสกิตขนาดใหญ่อย่างโอรีโอก็ไม่น้อยหน้า จับสินค้าของตนเองมารวมหน่วยแล้วขายตามเทศกาล เช่น แพ็ครวมโอรีโอรส สตรอเบอรี่ขายในเทศกาลวาเลนไทน์ หรือ แพ็ครวมโกลเด้นโอรีโอขายในเทศกาลตรุษจีน เป็นต้น นี่คือหนึ่ง มุมเพียงแค่การรวมหน่วยสินค้า ก็สามารถสร้างโอกาสในการขายสินค้าได้อีกมากมาย

3. ใช้วิธีการสร้างบรรจุภัณฑ์ให้เป็น Limited Edition คือ พยายามสร้างให้บรรจุภัณฑ์กลายเป็นของที่หายาก ผลิตมาจำนวนจำกัด ทำให้บรรจุภัณฑ์ นั้นมีคุณค่า น่าสะสม ยกตัวอย่างเช่น โค้กเป็นสปอนเซอร์การแข่งขันฟุตบอลโลกออกกระป๋องรุ่นบอลโลกลวดลายต่างๆแบบ Limited Edition เพราะเนื่องจาก Campaign ของบอลโลกนั้นมีระยะเวลาที่จำกัดจึงทำให้กระตุ้นยอดขายกลุ่มนักสะสมอีกด้วย เพราะคนที่เค้าสะสมกระป๋องโค้กนั้น เค้าให้คุณค่ากับเรื่องนี้มากๆ ถึงกับกระป๋องโค้บางรุ่นนั้นมีราคาเหยียบแสนบาทกันเลยทีเดียว

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่ามุมมองของบรรจุภัณฑ์นั้นมีมิติของการสร้างยอดขายอยู่อีกมาก ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่นำเสนอในบทความนี้นั้นเป็นมุมมอง ของบรรจุภัณฑ์ตามวาระต่างๆ ที่สามารถเพิ่มยอดขายได้ ซึ่งอยากให้ทาง SME ทั้งหลายหันมาตระหนักและใส่ใจกับกลยุทธ์ขั้นพื้นฐานเหล่านี้ เพื่อจะได้ต่อยอดกลยุทธ์อื่นๆได้อีกมากมาย และจะทำให้ SME อย่างเราๆนั้นกลายเป็น SME ที่มีศักยภาพในที่สุด

Filed under: Packaging Strategy, , , , , , , , , , , , , , ,

เชื่อแล้ว!!! Evian น้ำแร่กับการสร้างแบรนด์แบบชั้นยอด

วันนี้ Packaging City จะมา Review ถึงน้ำแร่ Evain ที่ใช้นักออกแบบระดับโลกในการสร้าง Limited Collection แบบ Exclusive เพื่อที่จะผูกแบรนด์ให้ติดไปกับชื่อเสียงของนักออกแบบระดับโลก รวมทั้งจะได้สร้าง Image ของแบรนด์ให้ดูมี Style และตอกย้ำความเป็นผู้นำมากกว่าน้ำแร่อื่นๆได้

โดยขวดน้ำแร่เอเวียงรุ่น Limited Edition เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2003-2004   เป็นคอนเซ็ปต์ “Water Drop Shape”  หรือ  ขวดรูปหยดน้ำปี 2005-2007 เป็นคอนเซ็ปต์ “ French Alps Shape”  ่หรือ ขวดรูปภูเขา และจุดเปลี่ยนที่ทำให้เอเวียงได้รับการจับตามองมากขึ้นคือเมื่อปลายปี 2007 ที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ฝรั่งเศสชื่อดัง Christian Lacriox ด้วยรูปทรงหรูหราและดูมีคุณค่าน่าสะสมมากขึ้น

ในปี 2008 Jean Paul Gaultier นักออกแบบแฟชั่น ได้รังสรรค์ลวดลายลงบนขวดแก้ว โดยงานสื่อถึงความเยาว์วัย สดใสลงบนขวดน้ำแร่ธรรมชาติ Evian ที่บอกเล่าถึงน้ำแร่บริสุทธิ์อันทรงคุณค่าสุดแสนจะพรรณา ในสไตล์โมเดิร์น ประกอบกับตัวอักษรขนาดใหญ่ที่โอบล้อมรอบขวด เกิดเป็นลูกเล่นแสงโปร่งใสและลวดลายลวงตา น่าสนใจ สมแล้วที่เป็นฝีมือระดับพระกาฬ

ในปี 2009 เป็นความร่วมมือกับนักออกแบบแฟชั่นระดับโลกกับน้ำแร่ Evian, Evian ได้เลือกหนึ่งในนักออกแบบที่มีชื่อเสียงและ Style ชัดเจนมากๆ ผู้ซึ่งมี Sense ของความสนุกและมองโลกในแง่ดี ซึ่งเค้าคนนั้นก็คือ Paul Smith นี่เอง

Evian ขวดใหม่ได้รับการออกแบบที่พิเศษเฉพาะตัวโดยใช้สีในแบบรื่นเริงสดใส โดยใช้ลายที่เป็นเอกลักษณ์ของ Paul Smith ซึ่งหรูหราและตอกย้ำความบริสุทธิ์ของน้ำแร่ธรรมชาติจากเทือกเขาแอลป์ในฝรั่งเศส

ในปี 2010 ที่ผ่านมา เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Evian กับ Issey Miyake ซึ่งเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นชื่อดังระดับโลกดีไซน์ Limited Collection ทั้งหมด 4 ขวด จำกัด ซึ่งขวด Limited Edition Evian นั้นจะเริ่มขายก่อนที่ www.ShopEvian.com

Evian น้ำแร่ธรรมชาติได้ร่วมมือกับแฟชั่นไอคอนที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง Issey Miyake ที่เอกลักษณ์รูปแบบใหม่ ๆ และเรียบง่าย การออกแบบขวดใหม่ของเขานั้นได้แรงบันดาลใจจากการตกแต่งด้วยดอกไม้แห่งจินตนาการซึ่งส่องแสงเจิดจรัสดั่งน้ำแร่ โดยบนขวดนั้นจะมีเขียนว่า Pleats Please ซึ่งเป็นเสมือนลายเซ็นต์ของ Issey งาน Issey ชิ้นนี้ให้ความรู้สึกที่ทันสมัยนั้น มีความดึงดูด ทำให้เกิดความสนใจของประชาชนที่ใส่ใจแฟชั่นทั่วโลกจริงๆ

Filed under: Packaging Strategy, , , , , , , , , , , , , , , , , ,

Case Study Emonergy เครื่องดื่มคนรุ่นใหม่…..จริงเหรอ??

เมื่อปลายปี 2010 มาจนถึงต้นปี 2011 ตลาด Functional Drink กำลังเป็นที่นิยมมากๆในประเทศไทย และมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น และแตกออกเป็น Sub-category ย่อยๆออกไปอีก ทำให้มีการแก่งแย่งชิ้นเค้ก 2 พันล้านก้อนนี้อย่างมาก ทั้งเจ้าตลาด Functional Drink ตัวจริงอย่าง Beauti Drink ของบริษัท ทรัพย์อนันต์ ก็ออกสินค้าใหม่ เช่น Smarti Drink ,Beauti Drink M และมีแนวโน้มจะออกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแบรนด์อื่นๆเช่น กระทิงแดง ก็ออกเครื่องดื่ม เรดดี้ มาอย่างก็ไม่น้อยหน้ากัน

ค่ายโอสถสภาเอง ก็หันมาปั้นสินค้า Functional Drink ตัวใหม่อย่างอีโมเนอร์จี้ ดริงก์ (Emonergy Drink) หลังจากปั้นเปปทีนประสบความสำเร็จมาอย่างล้นหลาม ซึ่งตัวสินค้า Emonergy Drink นั้น มีส่วนผสมของน้ำองุ่นขาว 12% ซึ่งออกมา 2 รสชาติ คือ สีชมพู Bright & Beauty (สำหรับผู้หญิง) สีฟ้า Fit & Firm (สำหรับผู้ชาย) เจาะกลุ่มเป้าหมายประเภทวัยรุ่นยุคใหม่ จำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นที่แรก

แบรนด์ Emonergy Drink นั้นเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการลงไปอย่างตัวขวดสีชมพู Bright & Beauty หลักๆจะช่วยบำรุงผิวขาว ชะลอแก่ ส่วนสีฟ้า จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ให้พลังงาน เป็นต้น นอกจากนี้ทางโอสถสภาได้คาดหวังกับโปรดักส์ตัวนี้เป็นอย่างมาก โดยมีการทุ่มงบประชาสัมพันธ์สินค้าผ่าน TVC และรายการวิทยุวัยรุ่นต่างๆ, มีการทำ Road Show, ซื้อสื่อ Ambient ในสยามสแควร์, แจก Sampling ตามแหล่งวัยรุ่นเช่น คอนเสิร์ต Super Junior และสุดท้ายก็เล่นกับ Promotion ของเซเว่น เป็นต้น ถือได้ว่าทุ่มทุนสร้างมากๆ

ทาง Packaging City จึงต้องขอมาร่วมแชร์และวิเคราะห์มุมมองของบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ของตัว Emonergy Drink กัน

1. Naming : การตั้งชื่อ “Emonergy” ถือว่าทำได้ดี เป็นการรวมคำระหว่าง Emotion(ความรู้สึก)+Energy(พลังงาน) ทำให้บ่งบอก Benefit ของสินค้าได้อย่างชัดเจน

2. Brand : ตัวโลโก้ของ Emonergy นั้นมีการใช้คำว่า Emo มาเล่นกับ Gimmick หน้าตาของความรู้สึกได้ดี น่าสนใจ ทำให้แบรนด์ใหม่นั้น จดจำได้ และเหมาะกับกลุ่มวัยรุ่น

3. Material : เลือกใช้ขวดแก้ว ซึ่งให้ความเย็นในตัวผลิตภัณฑ์ได้ดี แต่สีสันของตัวขวดนั้นฉูดฉาดเกินไป ทำให้ Contrast กับตัวคุณประโยชน์ที่ Emonergy โฆษณาเอาไว้

4. Graphic : กราฟฟิกนั้นไม่บ่งบอกถึงสรรพคุณของสินค้าอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งกราฟฟิกนั้นดูเสมือนปีศาส และจาก Research พบว่าคนทั่วไปจะ Reference ถึงลูกอมปีศาสที่เคยมีมาก่อน

5. Gimmick : มีการใช้ Gimmick ของ AR Technology ใต้ฝาของอีโมเนอร์จี้ ดริงก์ และมีการใช้ Game Online มากระตุ้นแบรนด์ให้เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค

6. Price Point : 20 บาท 150 มล. ถือว่าแพง เพราะ Perception ของผู้บริโภคจะเทียบกับเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งราคา Average จะอยู่ที่ 10 บาท

นี่อาจจะเป็นบทพิสูจน์นักการตลาดของโอสถสภาว่าจะฝ่าความรู้สึกของกลุ่มผู้บริโภคที่แนบโน้มจะ Health Concern ขึ้นเรื่อยๆหรือไม่ เพราะหลาหลายสิ่งในตัวบรรจุภัณฑ์ของ Emonergy นั้นดูไม่เข้ากับคุณประโยชน์ที่ได้รับเลย ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นทางโอสถสภาคงต้องพยายามที่จะทุ่มโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้มากๆเพื่อที่จะบอกถึงสาระในตัวสินค้าที่ได้นอกเสียจากแค่ Lifestyle เพียงอย่างเดียว คงต้องคอยดูกันว่าการทำงานของนักการตลาดของโอสถสภาใน Catergory นี้จะต้องทุ่มเม็ดเงินลงไปเท่าไรจึงจะประสบความสำเร็จ ฉะนั้นชาว Packaging City ต้องติดตาม


Filed under: Packaging Strategy, , , , , , , , , , , , , , , , ,

Case Study Minute Maid พลังการปรับภาพลักษณ์ สวยไม่สวย ต้องชม!!!

การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์(Redesign Packaging)แบรนด์ชั้นนำในสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งความพยายามของแบรนด์ระดับโลกอย่าง บริษัท โคคาโคล่า (Coca-Cola) ซึ่งโคคาโคล่าที่ปรับภาพลักษณ์ใหม่นั้นจะมีความเรียบง่ายมากๆในการใช้งานดังที่เคยกล่าวไปในบล็อกที่ผ่านมาแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการเข้ามาปรับโฉมของ line ประเภทน้ำผลไม้ เพื่อขยายขีดความสามารถของสายผลิตภัณฑ์ Cat อื่นๆ และเพื่อพัฒนาประสบการณ์ผู้บริโภค (Consumer’s Experience) ณ จุดขาย ซึ่งบรรจุภัณฑ์แบบใหม่จะทำให้รู้สึกถึงคุณภาพมากขึ้นของแบรนด์ Minute Maid

ทาง Packaging City จะแยกย่อยแนวความคิดของ Packaging Design ใหม่ของ Minute Maid เป็นข้อๆกัน

ด้านสัญลักษณ์ Minute Maid (Icon)
มีการใช้โลโก้แบบเดิม คือ พื้นดำตัวอักษรขาว แต่ปรับระบบ New Visual Identity ใหม่ ขอบด้านบนโลโก้นั้นปรับให้ดูร่วมสมัยโดยอ้างอิงจากโลโก้เดิม อีกทั้งเพิ่มเติมแถบสีเขียวด้านบนโลโก้ เพื่อเชื่อมต่อแบรนด์กับความเป็นธรรมชาติและพื้นแผ่นดินที่ผลิตผลไม้

ด้านออกแบบบรรจุภัณฑ์(Packaging Design)
ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตบริเวณช่องทางเดิน วิธีการมองของผู้บริโภค และศึกษาวิธีการจัดเรียงผลไม้ตามตลาดสดท้องถิ่นจริงๆ เพื่อที่จะพัฒนาการสื่อสารภาพให้สอดคล้องสำหรับบรรจุภัณฑ์น้ำผลไม้ใหม่

บรรจุภัณฑ์ใหม่จะสร้างแบบครบวงจรบน Shelf เมื่อบรรจุภัณฑ์(Packaging)วางต่อกันในแต่ละด้านโดยมันจะเชื่อมต่อกันเป็นภาพรวมของผลไม้ ได้แรงบันดาลใจจากอารมณ์ที่คุณเดินตามตลาดสดที่มีผลไม้เรียงรายอยู่มากมาย มันจะปรากฏภาพเหล่านี้ขึ้นใน Shelf Minute Maid โดยมันจะสร้างพลังบน Shelf อย่างมหาศาล มากกว่าคู่แข่งหลายเท่าตัว ส่วนภาพผลไม้บนบรรจุภัณฑ์(Packaging)ที่ถูกหั่นหรือฝานนั้น จะเป็นพระเอกบนบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด เพื่อแสดงถึงความสดใหม่ และ Gimmick ต่างๆได้

นี่เป็นหนึ่ง Case Study ของคำว่าพลังบน Shelf ซึ่งมันสามารถสร้างการสื่อสารต่อผู้บริโภคบน Shelf ได้อย่างมหาศาลจริงๆ นี่ทีมงาน Packaging City แค่มา Review Minute Maid แบรนด์เดียวเท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วยังมีอีกหลากหลายแบรนด์ที่ใช้แนวความคิดแบบ Shelf Impact อีกเพียบ และประสบความสำเร็จ แต่ความจริงไม่ง่ายนะที่จะคิดระบบของโครงสร้างแบรนด์อย่างลงตัวโดยใช้แนวความคิด Shelf Impact เป็นมิติหนึ่ง แต่ทีมงาน Packaging City อยากมาแนะนำว่า นี่แหละ..!!! ถึงแม้บรรจุภัณฑ์สวยขนาดไหนก็ตาม เมื่อเราขึ้นชกบนเวทีแล้ว พลังของ Shelf นั้นมีผลมาก แบบในตัวอย่างนี้เป็นต้น

Filed under: Packaging Strategy, , , , , , , , , , , , , , , , , ,

Case Study BARCODE จุดเล็กๆที่แตกต่าง

วันนี้ Packaging City จะเพิ่มเติมไอเดีย Barcode ที่เราแสนจะคุ้นเคย บวกกับประวัติคร่าวๆกัน

บาร์โค้ด(Barcode) หรือ รหัสแท่งมหัศจรรย์นั้น ประดิษฐ์ขึ้นโดย Norman Joseph Woodland และถูกเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1974 ซึ่งใช้ในซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่ชื่อ March’s โดยสินค้าชิ้นแรกที่ถูกสแกนนั้นคือ หมากฝรั่ง Wrigley’s ต่อมามีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจาก บาร์โค้ด(Barcode) นั้นเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลที่แม่นยำมาก โดยถอดรหัสออกมาผ่านแถบแท่งขาวดำที่วางเรียงรายสลับไปมา แต่ในปัจจุบันข้อมูลที่บาร์โค้ดเก็บได้นั้นอาจไม่เพียงพอ ทำให้เกิด Code ต่างๆหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น Semacode, QR Code, Shotcode เป็นต้น

มาดูการประยุกต์การใช้งานด้วยดีไซน์เข้าไป ทำให้เกิด gimmick เล็กๆและความน่าสนใจมากขึ้น
ตัวอย่างไอเดียบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์(Packaging) มีร้าน Delishop ที่สเปนนำเอาบาร์โค้ด(Barcode) มาเป็น Brand Identity ซึ่งทำได้อย่างน่าสนใจจนคว้ารางวัลมากมาย

Filed under: Idea Packaging, , , , , , , , , , , , , ,

เมื่อ Coke และ Pepsi รีแบรนด์อะไรจะเกิดขึ้น??

Packaging City วันนี้จะมาเปรียบเทียบ 2 แบรนด์ยักษ์ๆข้ามชาติในตลาดน้ำอัดลมที่เราคุ้นเคยทั้ง โค้ก(Coke) และ เป๊ปซี่(Pepsi) มีการปรับอัตลักษณ์ใหม่(Identity and Brand Development) หรือ รีแบรนด์(Rebrand) มาดูสิว่าว่า, รูปแบบ, แนวความคิด เป็นอย่างไร

เริ่มต้นกันที่มุมแดงกันก่อน โค้กนั้นเลือกใช้ Turner Duckworth ในการปรับ Coca-Cola Identity ใหม่ทั้งหมด ซึ่ง Turner Duckworth เลือกใช้ Brand Concept Idea ว่า “Coke brings joy” แก่นสำคัญในการออกแบบที่ทางบริษัทดีไซน์นั้นใส่ลงไปในคือ ความชัดเจนของแบรนด์ในแบบเรียบง่าย ทั้งโลโก้และรูปทรงของขวดที่หลายคนจดจำ มันตอบสนองได้ดีมาก เนื่องจาก มันไปปรากฎต่อบริบทที่คุณเกี่ยวข้องในทุกๆที่ เช่น ดูหนัง กินข้าว เป็นต้น ถือเป็นการสร้าง Brand Experience ได้ดีมากจริงๆ

หลังจากที่ออกโค้กใหม่ไป Turner Duckworth กวาดรางวัลระดับโลกมากมายไม่ว่าจะเป็น D&DA, Cannes Lion, Designweek, Pentawards เป็นต้น ถือว่าประสบความสำเร็จเลยทีเดียว

มาในฝั่งมุมน้ำเงินกันบ้าง เป๊ปซี่ก็ไม่น้อยหน้าใช้งบประมาณ 1.2 พันล้าน ในการเปลี่ยนทุกอย่างที่เกี่ยวกับแบรนด์ ทั้งรูปแบบใหม่ ทั้งบรรจุภัณฑ์ (Packaging) และทั้งจุดขายด้วย ว่าจะทำอย่างไรถึงจะสื่อสารกับผู้บริโภคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังเลือก Arnell Group ในการออกแบบโดยใช้แนวคิดแบบ “Brandspeak” ซึ่งตัวโลโก้นั้นสามารถสื่อสารกับคนได้(ลองดูวีดีโอประกอบ) คือ โลโก้แบบยิ้ม นั้นจะใช้กับ Pepsi ถ้าโลโก้แบบยิ้มยิงกว้างก็จะกับ Diet Pepsi แต่ถ้าโลโก้หัวเราะจะใช้กับ Pepsi Max เป็นต้น เพื่อสร้างความสดใหม่ให้กับแบรนด์และให้กับ Concept เปลี่ยนโลกให้สดใส (Refresh Your World) เป็นการสะท้อนถึงภายในของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และมุ่งมั่น เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

เรื่องน่ารู้จากผลการสำรวจตลาดในวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า

The Coca Cola Company มียอดขาย 121.41 พันล้านเหรียญสหรัฐ

Pepsico, Inc มียอดขาย 97.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

Filed under: Packaging Strategy, , , , , , , , , , , , , , , , ,

Follow Us