Packaging City

Packaging Design Knowledge Center

อูแว้…อูแว้…บทความการตั้งชื่อสินค้า

Packaging City วันนี้มาดูเรื่องการตั้งชื่อสินค้าหรือชื่อแบรนด์กันนะครับ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ อย่ารอช้ารีบอ่านกันเลยครับพี่น้อง!!!!

เมื่อเด็กลืมตามาดูโลกเพียงไม่นาน คุณพ่อคุณแม่ก็จะเตรียมตัวที่จะตั้งชื่อลูกกันขนานใหญ่อาจจะเปิดหนังสือดูบ้าง หาจากอินเตอร์เน็ทบ้าง หรือบ้างก็ไปให้พระให้เจ้าตั้งชื่อให้เลย คือว่าทำยังไงก็ได้ให้ลูกฉันมีชื่อที่เก๋ไก๋สไลเดอร์ที่สุดก็เป็นพอ เฉกเช่นในมุมของผลิตภัณฑ์สินค้า หรือ brand นั้น ก็จำเป็นต้องมีชื่อเสียงเรียงนาม เพื่อที่จะทำให้ผู้คนรับรู้และจดจำได้เช่นกัน

อ่าว!! แล้วจะทำอย่างไรล่ะ…???

หนึ่งในพื้นฐานองค์ประกอบของการสร้างการรับรู้และจดจำนั้น ก็คือการตั้งชื่อ brand นั่นเอง ความเป็นจริงแล้วงานวิจัยในต่างประเทศกฎการตั้งชื่อ brand ให้ประสบความสำเร็จไว้ว่า “ไม่ควรเกิน 6 ตัวอักษร ออกเสียงแล้วไม่เกิน 3 พยางค์ ทางที่ดีที่สุดควรออกเสียงแค่พยางค์เดียว” แต่ก็ไม่เสมอไปอีกนั่นแหละ เพราะยังมีแบรนด์ที่มีหลายพยางค์ อย่างโชกุบุสซึ โมโนกาตาริ ที่ออกเสียงยาวเฟื้อย เป็นต้น แต่เทคนิคในการตั้งชื่อ brand นั้นมีหลากหลายวิธี ซึ่งจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพคร่าวๆ เป็น Case Study แจ่มๆให้ได้ดูกันเลย

1. การตั้งชื่อในธุรกิจที่มีคู่แข่งขันมากมายนั้น การโดดเด่นด้วยการตั้งชื่อถือเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจก้าวกระโดดออกมาดั่ง ร้านขนมปังที่มีชื่อว่า “ ปังเว้ย…เฮ้ย!!! ” เริ่มต้นด้วยการคิดชื่ออะไรก็ได้ที่สื่อถึงความหมายของร้านขนมปัง แต่ร้านขนมปังส่วนใหญ่จะชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ดูเก๋ๆ เท่ห์ๆ แต่เจ้าของร้านนี้ต้องการใช้ชื่อแบบไทยๆ สื่อถึงคนรุ่นใหม่ สื่อความกวนๆ ซึ่งทำให้ใครฟังเพียงชื่อนี้เพียงแค่ครั้งเดียวก็สามารถจดจำได้ เพราะด้วยความกวนประสาทของชื่อ “เว้ย…เฮ้ย” นั่นเองทำให้คนคิดที่อยากจะทดลองซื้อสินค้า เพื่อจะได้รู้ว่าขนมปังกวนๆนี้มีรสชาติอย่างไร ปรากฎว่าคนต่อคิวกันซื้อเลยทีเดียว ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย

 

2. ในอีกมุมของพลังแห่งการตั้งชื่อนั้น ถ้าตั้งชื่อได้ดีมันสามารถจะสร้างการจดจำจนกลายเป็นชื่อสามัญ (Generic Name) ของสินค้าหมวดหมู่นั้นๆเลย ตัวอย่างเช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่เรียกแทนว่า มาม่า, ผงซักฟอง ที่เรียกแทนว่า แฟ๊บ, กระดาษโน้ตที่มีกาวติดอยู่ด้านหลัง ที่เรียกแทนว่า POST-IT, การก๊อปปี้กระดาษ เรียกแทนว่า ซีร็อกซ์ (Xerox) ซึ่งเป็นชื่อของบริษัทซีร็อกซ์  ปัจจุบันเป็นคำเรียกเครื่องถ่ายเอกสารของยี่ห้ออื่นๆ อีกด้วย นี่คือตัวอย่างของการตั้งชื่อจนเป็นชื่อสามัญของสินค้าไปเลย ถือว่ายอดเยี่ยมมากๆ

3. อีกแบรนด์ระดับโลกที่เป็น Case Study ที่น่าสนใจคือแบรนด์ เฟรนช์คอนเนกชัน (French Connection, FC) หรือที่เรารู้จักกันดีว่าแบรนด์ FCUK บริษัทเสื้อผ้าชั้นนำจากอังกฤษ ที่กล้าแหวกกฏการตั้งชื่อทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งทางเฟรนช์คอนเนกชัน นั้นเริ่มมาจากได้เพิ่มแผนการตลาดใหม่ ในปี 2001 โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “FCUK” โดยได้ไอเดียชื่อนี้ มาจากการที่เห็นจดหมายที่มีชื่อย่อของ ร้านเฟรนช์คอนเนกชัน สาขาที่ฮ่องกง (FCHK – French Connection Hong Kong) ซึ่งในสมัยนั้นทางบริษัทเฟรนช์คอนเนกชัน (FC) ก็ยังไม่มีตัว UK ตามข้างหลัง พอได้ไอเดียมาก็เลยเขียนต่อจากแบรนด์เลยออกมาเป็นชื่อ FCUK ซึ่งก็ย่อมาจาก (French Connection United Kingdom) เมื่อแบรนด์ FCUK ได้ออกมา เสื้อผ้าของเฟรนช์คอนเนกชัน ก็มียอดการจำหน่ายสูงขึ้นหลายเท่าตัวภายในช่วงเวลาไม่นาน ซึ่งเป็นที่นิยมมากๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่วัยรุ่น เพราะว่า FCUK นั้นตัวอักษรมันมีความคล้ายคลึงกับคำว่า FUCK ซึ่งแปลว่าเพศ หลังจากนั้นทางบริษัทเฟรนช์คอนเนกชันก็ใช้ประโยชน์ของชื่อที่ติดตลาดมากผลิตเสื้อยืดที่มีข้อความเช่น “FCUK Fashion”,”FCUK THIS”,”FCUK on The Beach”,”Cool as FCUK” ,”FCUK OFF” เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสูง ถึงขนาดที่ร้านขายเสื้อผ้า และห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ห้ามวางขายเสื้อของเฟรนช์คอนเนกชันทั้งหมด ทั้งนี้ทั้งนั้นทางเฟรนช์คอนเนกชันก็สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ในเวลาต่อมา Case Study นี้ชี้ให้เห็นว่า พลังของการตั้งชื่อนั้นมันมหาศาลจริงๆ ถึงแม้บางกฎเกณฑ์ต่างๆ บางข้อของการตั้งชื่อนั้นจะบอกว่าให้ตั้งชื่อเป็นสิริมงคลก็ตาม มันก็ยังมีอีกมุมหนึ่งของโลกใบนี้ที่จะดึงโอกาสเข้าสู่ตนเองได้ดั่ง Case Study ของ FCUK เป็นต้น

พออ่านบทความนี้จบหลายๆท่านก็จะเกิดมุมมองความคิด,ความเข้าใจและได้คำตอบแล้วว่า การตั้งชื่อแบรนด์นั้นสำคัญขนาดนี้เชียวรึ? มันก็เหมือนการตั้งชื่อลูกของคุณแหละครับ

Filed under: Other, , , , , , , , , , , , , , ,

Follow Us